วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

"มหัศจรรย์ อินโก" วรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็ก หรือเปล่านะ?

"ข้าหวังใจได้ไปอยู่ในอินโก
ไกลออกไปในทะเลแสนเค็ม
ล่องเรือเหนือผืนน้ำสุดลึำกล้ำ..."

ขอสารภาพตามตรงเลยว่า ตอนแรกที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็เพราะ "ปก" พอเปิดผ่านๆ ไปได้นิดหนึ่งก็เห็นว่าเป็นหนังสือสำหรับเด็กที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเงือกๆ ซึ่งก็เป็นแนวที่สนใจอยู่ เรื่องของเรืื่องคือไม่ได้อ่านหนังสือเด็กมานานมากแล้วเลยไม่แน่ใจว่ามาอ่านตอนนี้จะสนุกหรือเปล่า แต่ก็ตัดสินใจซื้อเพราะเห็นว่าเรื่องราวเข้าท่่าดีค่ะ :->

พอนั่งอ่านเป็นเ่รื่องเป็นราวก็เริ่มรู้สึกว่า อุแม่เจ้า! นี่มันหนังสือสำหรับเด็กหรือนี่... และยิ่งเป็นเด็กอายุ 9-12 ขวบด้วย (ตามการจัดเรทของฝรั่ง) เพราะเนื้อหาในหนังสือมันช่างซีเรียสและสมจริงเสียเหลือเกิน ในหนังสือเล่มนี้มีทั้งพ่อที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ครอบครัวที่ใกล้จะอับปาง แม่ที่เก็บกด ลูกสาวที่ไม่ยอมเชื่อฟัง และโลกใต้น้ำที่แสนมหัศจรรย์ แต่ก็โหดร้ายด้วยในขณะเดียวกัน...

อ่านแล้วก็คิดว่า "นี่น่าจะเป็นหนังสือสำหรับเด็กอายุ 9 ขวบ หรือเปล่า?"

...ก่อนพบอินโก พ่อที่หายตัวไป และเด็กหญิงเจ้าปัญหา...

หนังสือเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องราวของสองพี่น้อง แซฟไฟร์ และคอเนอร์ ที่พ่อของพวกเขาหายตัวไปอย่างลึกลับกลางทะเลในคืนหนึ่ง การหายตัวไปของพ่อนับเป็นปริศนาสำหรับคนทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากใครๆ ก็รู้ว่าเขารู้จักทะเลเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง จึงยากจะเชื่อว่าจะพลาดท่าเสียทีให้แก่ทะเลในคืนที่คลื่นลมสงบได้

เมื่อพ่อหายไป แม่กลายเป็นคนที่ต้องแบกรับภาระทั้งหมดของบ้าน และนั่นเองที่ทำให้บ้านไม่เป็นบ้านอีกต่อไป นอกจากจะขาดพ่อแล้ว เด็กทั้งสองคนยังเหมือนขาดแม่อีกด้วย ความที่ต้องทำงานหนักและไม่ค่อยอยู่บ้านเลยทำให้แม่กับลูกไม่ค่อยจะสื่อสารกัน โดยเฉพาะกับเด็กหญิงแซฟไฟร์ ที่รู้สึกมาตลอดเวลาว่าคอร์เนอร์เป็นคนโปรดของแม่ ไม่ใช่ตัวเอง

แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่เข้ามาจุดประกายความหวังให้เด็กทั้งสอง แซฟไฟร์รู้สึกผิดสังเกตเมื่อพบว่าคอร์เนอร์หายตัวไปบ่อยขึ้น วันหนึ่งเธอพบพี่ชายอยู่บนชายฝั่งกำลังคุยกับเด็กหญิงคนหนึ่งที่เธอคิดว่าสวมชุดประดาน้ำ และครั้งที่สองที่แซฟไฟร์ตามคอเนอร์ออกไปที่ทะเล เธอก็ได้พบกับ "ฟาโร" เงือกเด็กชายที่พาเธอลงไปรู้จักกับโลกใต้น้ำที่แสนมหัศจรรย์ และเกือบไปถึงดินแดนที่เรียกว่า "อินโก"

การได้รู้ว่ามี "อินโก" อยู่ ทำให้เด็กทั้งสองเริ่มมีความหวังว่าพ่ออาจยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งในหนังสือก็ได้กล่าวเป็นนัยๆ มาตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่า่พ่อของพวกเขาอาจมีสายเลือดของเงือกหรือชาวอินโกอยู่ในตัว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนอ่านจะรับรู้ได้ว่าพ่อของเด็กๆ ไม่ได้หายตัวไปไหนนอกจากไปอยู่ในอินโกนั่นเอง... (ยกเว้นว่าคนเขียนจะหักมุมให้เป็นอย่างอื่นในภาค 2 น่ะนะ)

เฮเลน ดันมอร์ ผู้เขียน บรรยายถึงเฉากใต้น้ำได้อย่างสมจริง ภาพของท้องทะเลสีเขียวเข้ม กับสรรพชีวิตใต้ทะเลที่เคลื่อนไหวไปมา ทำให้เรามองเห็นโลกอีกโลกหนึ่งทีสุขสงบ ในขณะที่ภาพของกระแสน้ำที่โลดแล่นรุนแรงก็สื่อถึงอันตรายของสิ่งที่มองไม่เห็นได้อย่างชัดเจน

...พบเงือกขี้โมโห...

อย่างไรก็ตาม ชาวเงือกที่เด็กๆ ไม่ใช่เงือกใจดีอย่างในนิยทาน พวกเขายโส ขี้โมโห และยังเต็มไปด้วยความลึกลับ การที่ "ฟาโร" รู้อะไรต่างๆ มากมายแต่ไม่ยอมเปิดเผยออกมานั้น ช่างดูมีเลศนัย และจิตเจตนาที่มุ่งร้ายต่อเหล่านักประดาน้ำที่มารบกวน "ลิมินา" ก็ทำให้เงือกเด็กตัวนี้เกือบๆ จะเป็นตัวร้ายของเรื่องเลยทีเดียว

หากจะให้มีแ่ต่เงือกขี้โมโหเป็นเพื่อน เด็กๆ ก็คงดูน่าสงสารเกินไป ผู้เเขียนเลยส่ง "คุณยายคาร์น" มาเป็นแม่ทูนหัวหรือนางฟ้าผู้อารีให้เด็กๆ ในตอนที่แซฟไฟร์ซึ่งมีความเป็น "อินโก" อยู่ในตัวมากกว่าพี่ชายทนเสียงเรียกร้องของทะเลไม่ไหวนั้น ก็ได้คุณยายคาร์นนี่แหละมาช่วยไว้ได้ทันเวลา และุคุณยายคาร์นยังเป็นคนเดียวที่รู้เรื่องอินโก และเชื่อว่าพ่อของพวกเด็กๆ ยังมีชีวิตอยู่ด้วย

ในเรื่องนี้เด็กหญิงแซฟไฟร์เล่นบทบาทเป็นเด็กเจ้าปัญหา การจากไปของพ่อมีผลกระทบต่อเธอมากกว่าพี่ชาย อีกทั้งการที่เธอรู้สึกว่าไม่ใช่คนโปรดของแม่อาจทำให้เธอรู้สึกเป็นคนนอกในบ้านตัวเองอีกด้วย ความรู้สึกที่ว่านี้ชัดเจนขึ้นเมื่อแม่มีคนรักใหม่ (โรเจอร์) และพยายามนำเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว

แม้โรเจอร์จะไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร แต่แซฟไฟร์ก็รับเรื่องนี้ได้ยากเต็มที พ่อหายตัวไปไม่ถึงปีแม่ก็มีคนรักใหม่ ต่างจากคอร์เนอร์ที่ดูจะรับเรื่องนี้ได้ง่ายกว่า (อ่านแล้วก็งงๆ เหมือนกันว่าไหงแม่ของเด็กๆ ถึงได้ตัดสินใจจะหาพ่อใหม่รวดเร็วนัก) แม้จะเกลียดขี้หน้่าึึคนรักใหม่ของแม่ แต่เมื่อบททดสอบมาถึงแซฟไฟร์ก็ต้องเลือกระหว่างการเพิกเฉย กับการช่วยชีวิต "โรเจอร์" ให้ได้ ซึ่งคนอ่านก็คงคาดเดาได้ว่าเธอจะเลือกอะไร

...เกี่ยวกับผู้เขียน และบทสรุปของหนังสือ...

เฮเลน ดันมอร์ เก่งในการสร้างบรรยากาศสมจริง ทั้งการบรรยายถึงเมืองเล็กๆ ริมฝั่งทะเลในคอร์นวอลล์ (ทั้งๆ ที่ผู้เขียนเกิดและโตในยอร์กเชียร์) อุปนิสัยช่างซุบซิบนินทาของผู้คนในเมืองเล็ก ความเชื่อในท้องถิ่น และชีวิตครอบครัวที่เปราะบาง พล็อตเรื่องไม่มีอะไรใหม่ตามประสาหนังสือชุด (Series) แต่ผู้เขียนก็ได้ทิ้ง hint ไว้ด้วยว่าคอร์เนอร์อาจมีบทบาทสำคัญในภาคต่อๆ ไป เพราะเขามีลักษณะเหมือนคุณยายคาร์นที่เป็นแม่มดนั่นเอง

โดยรวมแล้ว "มหัศจรรย์...อินโก" เป็นหนังสือที่อ่านสนุก มีความสมจริง แต่ติดที่การดำเนินเรื่องออกจะอืดไปมาก และพล็อตเรื่องไม่มีอะไรใหม่ นอกจากนี้ยังอาจมีความรุนแรงแฝงอยู่ (เช่น เงือกที่มุ่งร้ายต่อนักประดาน้ำ หากคนพวกนั้นจะตายก็ไม่เป็นไร, พ่อที่หายไปอาจถูกฆ่าตายกลางทะเล, การกล่าวถึงนัยะเรื่องทางเพศแบบอ้อมๆ เมื่อแม่มีคนรักใหม่ ฯลฯ)

เนื้อหาเหล่านี้ทำให้ในหน้า comment ของอเมซอนมีเหล่าคุณแม่ที่ออกมาแสดงความเห็นกันฟันธงไปเลยว่า "หนังสือเรื่องนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก" แต่เราว่าเด็กๆ สมัยนี้แก่แดดกันจะตาย อาจมีวุฒิภาวะมากกว่าที่เราคิดไว้ก็ได้ แ่ต่พอคิดว่าเป็นเด็กอายุ 9 ขวบแล้ว ก็ยังรู้สึกอยู่ดีว่าหนังสือเรื่องนี้ออกจะเนื้อหาหนักและมืดหม่นเกินไปสำหรับเด็กอายุ 9 ขวบ แต่โชคดีที่ในเมืองไทย ทาร์เก็ตของหนังสือเล่มนี้ซึ่งจัดพิมพ์โดย เพิร์ล พับบลิสชิง จะมีอายุอยู่ในราว ม.ปลาย (จากการเดินสำรวจในงานสัปดาห์หนังสือ) หรือประมาณ 14-15 ขึ้นไป

วรรณกรรมเยาวชน ชุด "อินโก" (Ingo) มี 4 เล่ม ได้แก่ Ingo (2005), The Tie Knot (2006), The Deep (2007) และ The Crossing of Ingo (2008) ซึ่งเป็นเล่มจบ

เฮเลน ดันมอร์ ยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานหลากหลาย ทั้งนิยายสำหรับผู้ใหญ่ (ไม่ได้หมายถึงเรื่องอีโรติกนะคะ แต่หมายถึงนิยายทั่วไปน่ะ อย่าคิดลึกนะ หุๆ ^ ^ ) วรรณกรรมเยาวชน บทกวี และบทความต่างๆ และยังเป็นเจ้าของรางวัล MacKitterick Prize จากเรื่อง- Zennor in Darkness (1994) รางวัล Orange Prize จาก A Spell of Winter (1996) และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Whitbread และ Orange Prize จากเรื่อง The Siege (2002)